พอขึ้นปีใหม่ ผมแน่ใจว่า หลายท่านก็คงอยากทราบถึงเทรนด์ในการทำธุรกิจออนไลน์ในปีนี้ ว่ามันจะมีทิศทางยังไง อะไรจะมา อะไรจะไปบ้าง
ซึ่งถ้าจะให้ผมเรียนตามตรง ผมมองว่าปีนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่หวือหวาขนาดที่จะมาเปลี่ยนสมรภูมิรบครับ เพราะส่วนใหญ่เทรนด์ต่างๆ พวกเรามักจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาหมดแล้ว
ประเด็นที่น่าคิดยิ่งไปกว่าเทรนด์ที่กำลังจะมา คือ หลังจากที่เราอัพเดทเทรนด์ต่างๆ ไปแล้ว เราได้ลงมือปรับตัวให้รับกับกระแสหรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นหรือเปล่าต่างหาก
บทความในวันนี้ ผมจึงไม่ได้จะมานั่งเน้นหนักไปที่เรื่องของเทรนด์ แต่อยากจะโฟกัสไปที่การแชร์มุมมอง การเคลียร์ปัญหาคาใจของหลายๆคน และมาช่วยกันคิดว่าปีนี้ “เราต้องลงมือทำอะไร?” เสียมากกว่า
ซึ่งผมขอแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ
1. Facebook Marketing ในปี 2019
ขอเริ่มที่ Facebook ก่อนแล้วกันนะครับ
ปีที่ผ่านมา Facebook เจอเรื่องแย่ๆ ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไหล ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้กันพอสมควร ไหนจะค่าโฆษณาที่แพงขึ้น ไหนจะมีเรื่องที่ Facebook เค้าทดลองปรับเปลี่ยนนู่นนี่อยู่บ่อยๆ อีก เช่น การปรับลด reach จากโพสต์ของเพจ / การปรับอัลกอริทึม / การปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลของโฆษณา / การเพิ่มลดตัวชี้วัดต่างๆ ที่ทำให้ผู้ที่ทำการตลาดบน Facebook พาลปวดหัวไปตามๆ กัน
ข่าวไม่ค่อยดีมาแบบกระหน่ำขนาดนี้ หลายท่านอาจเริ่มสงสัยว่า “Facebook จะยังอยู่ได้อีกนานมั้ย?” หรือ “เรายังควรที่จะทำการตลาดบน Facebook อยู่รึเปล่า?”
ผมขอตอบแบบทื่อๆ เลยนะครับว่า “ตราบใดที่ platform นี้ยังมีคนอยู่ เราก็คงจะทิ้ง platform นี้ไปไม่ได้”
ปัจจุบัน Facebook ยังถือคนจำนวนมหาศาล โดยจากรายงานล่าสุด ใน Q3/18 Facebook มี Daily Active User (DAUs) ทั่วโลก อยู่ถึงประมาณ 1.5 พันล้านคน ทั้งนี้ แม้ปริมาณ DAUs ในสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป จะค่อนข้างทรงตัว แต่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และภูมิภาคอื่นของโลก ยังเห็นสัญญาณการเจริญเติบโตของ DAUs ค่อนข้างชัดเจน
สำหรับประเทศไทยเอง ในปี 2018 มี Active Account อยู่ถึง 45 ล้านบัญชี ซึ่งนับคร่าวๆ ก็เกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว (แม้จะคำนึงถึงเรื่อง 1 คนมีหลายบัญชี ก็ยังถือว่าเยอะมากอยู่ดี)
ซึ่งแม้เราจะไม่ได้เอาตัวเลขมากางให้ดูกัน ทุกคนก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram มีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยมากแค่ไหน
ตามความเห็นของผม ผมมองว่า มันค่อนข้างยากที่ Facebook จะล้มหายไปแบบปัจจุบันทันด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยน่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร หรือไม่ก็ต้องมีแพลตฟอร์มอื่นที่มาทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์จริงๆ
ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยเรื่องผู้ใช้ที่มีจำนวนมากแล้ว ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook เค้าก็ไม่มีทางยอมล้มง่ายๆ หรอกครับ
เห็นได้จากความพยายามในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเอาใจทั้งทางฝั่งผู้บริโภค และฝั่งธุรกิจ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับฝั่งผู้บริโภค เค้าพยายามพัฒนาให้ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับผู้บริโภค พยายามปรับอัลกอรึทึมให้แสดงผลคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของผู้ใช้มากที่สุด รวมถึงพัฒนาประสบการณ์การซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มให้มีความลื่นไหลและสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับฝั่งธุรกิจ เค้าก็พยายามพัฒนาเครื่องมือและฟีเจอร์หลายตัวเข้ามาช่วยให้ธุรกิจทำงานง่ายขึ้น ประกอบกับพยายามขยายพื้นที่การแสดงผลโฆษณาให้มีมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องความหนาแน่นของหน้าฟีด และค่าโฆษณาที่แพงขึ้น
เรียกได้ว่า พยายามรักษาทั้งคนซึ่งเป็นไพ่ตายของเค้า และรักษาธุรกิจที่เป็นแหล่งรายได้ของเค้า เอาไว้อย่างเหนียวแน่นเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ถ้าถามผมว่า อยากฝากอะไรเกี่ยวกับ การทำการตลาดบน Facebook ในปีนี้ ก็จะมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ ครับ
เรื่องแรก : VDO คอนเทนต์ยังคงมาแรง ถ้าธุรกิจทำไม่ได้ จะเสียโอกาสอย่างมาก
เรื่องของ VDO ผมเคยพูดไปแล้วในปีก่อน ขอกลับเอามาย้ำอีกทีในปีนี้ เพราะแม้มันจะเป็นเทรนด์ที่เปรี้ยงปร้างมานาน แต่ก็ยังคงมีคนทำน้อยอยู่ดี หรือไม่ก็ใช้ผิดที่ ผิดวัตถุประสงค์กันค่อนข้างมาก
ทำไมผมถึงเชียร์ให้คุณใช้ VDO นัก ก็เพราะ
– มันมีประสิทธิภาพในการสื่อความสูง เนื่องจากเป็นสื่อที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งการมองเห็นและการได้ยิน (Audio-visual media)
– มันสามารถสื่อสาร Message ที่มีความซับซ้อนได้ดี
– มันมีทางเลือกในการนําเสนอที่หลากหลาย ทั้งรูปแบบ ระยะเวลา และตําแหน่งแสดงผล
– มันสามารถเก็บข้อมูลคนที่เข้าดู VDO มาสร้างเป็น Custom Audience เพื่อยิงโฆษณาซ้ำกลับไปหาได้
นอกจากข้อดีหลายประการเหล่านี้แล้ว สาเหตุที่ต้องทำ VDO ให้เป็นให้ได้ ก็เพราะ Facebook เค้าผลักดัน VDO คอนเทนต์แบบเต็มเหนี่ยว
ทั้งการปรับอัลกอริทึมให้ VDO ได้สิทธิพิเศษบนหน้าฟีด การเปิดตัวฟีเจอร์ต่างๆ ที่ล้วนแต่ออกมาเพื่อสนับสนุนคอนเทนต์ประเภทนี้ เช่น Facebook Watch, Ad Breaks และ Facebook Creator Studio เป็นต้น
คุณลองคิดดูเอาเองแล้วกันนะครับว่า ถ้าเรายังทำ VDO คอนเทนต์ไม่ได้ เราจะเสียโอกาสขนาดไหน?
เรื่องที่ 2 : “การทํางานแบบมวยวัดจะอยู่ไม่ได้แล้ว”
การทำการตลาดบน Facebook ในวันนี้ มันหมดเวลาสำหรับคำว่า “ไม่รู้” “ไม่เป็น” “ไม่เข้าใจ” “ไม่เชี่ยวชาญ” แล้วครับ
ในวันที่ทุกคนเข้ามาลุยทำการตลาดบนแพลตฟอร์มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายใหญ่ๆ ถ้าเรายังทำแบบมั่วๆ งงๆ ผมบอกเลยว่า “ไปไม่รอดแน่นอน”
Custom Audience, Lookalike Audience, การอ่าน Report โฆษณา, การทำ A/B Testing, การ Design Content Mapping จะกลายเป็นสิ่งพื้นฐานแบบสุดๆ ที่คุณจะต้องทำได้
ผมย้ำตรงนี้เลยว่า ถ้าคุณยังอยากอยู่ในการแข่งขันแบบผู้ชนะ คุณก็ “จำเป็น” ต้องยกระดับความรู้ที่คุณมีให้เทียบเท่า หรือสูงกว่าที่คู่แข่งมีให้ได้ครับ
2. ปี 2019 หากยังใช้แต่ Social Commerce คุณเหนื่อยตายแน่นอน
ทุกวันนี้เวลาคุณจะซื้อของออนไลน์สักชิ้น คุณเคยทำสิ่งเหล่านี้มั้ยครับ?
– เข้าไปเสริชหาข้อมูลใน Google
– เปิดเข้าไปดูเพจ หรือ เว็บไซต์ของแบรนด์
– หารีวิวใน Pantip
– เปิดดูวิธีใช้ใน Youtube
– เทียบราคากับ Lazada / Shoppee
– ลองสินค้าที่ Shop แล้วค่อยกลับมาซื้อออนไลน์
– Inbox ไปถามตอนเที่ยงคืน แต่แม่ค้าไม่ตอบ เลยหงุดหงิด ไม่อยากได้แล้ว
– กำลังจะตัดสินใจซื้อ แต่เจอสินค้าอีกตัวที่ถูกกว่าเด้งเข้ามาในฟีด เลยเปลี่ยนใจกระทันหัน
ถ้าคุณเคยทำ…ลูกค้าก็เคยทำเช่นกันครับ
สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อก็คือ ปัจจุบัน เส้นทางการซื้อของลูกค้า (customer journey) ไม่ได้เรียบง่ายเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป
ด้วยความที่เทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าสักชิ้นของพวกเค้าซับซ้อนมากขึ้น (non-linear) มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น (personalization) พ่วงมาด้วยความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จนเรียกได้ว่า “ผู้บริโภคเป็นผู้คุมเกมส์โดยสมบูรณ์” เลยทีเดียว
ซึ่งถ้าธุรกิจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างที่เค้าต้องการ นั่นหมายถึง คุณกำลังเสียลูกค้าไปอย่างง่ายดาย
และนี่เป็นที่มาของสิ่งที่ผมกำลังจะพูดถึงครับว่า วันนี้ถ้าคุณยังพึ่งพาแต่ social commerce คุณจะต้องแย่แน่ๆ
เพราะคุณเห็นอยู่แล้วว่า journey ของผู้บริโภคสมัยนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นและจบเพียงแค่บนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งหรือช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่มันกระโดดข้ามไปมา และมีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง มิหนำซ้ำยังแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลอีกต่างหาก
หากคุณยังคงทำการตลาดแบบปิดตา ไม่มองว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แท้จริงเป็นอย่างไร และฝากความหวังทั้งหมดไว้แค่เพียงกับ Facebook คุณจะเสียโอกาสไปมากมายระหว่างทางแบบที่คุณคาดไม่ถึง
แถมการทำการตลาดบน Facebook เองก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปริมาณผู้เล่นที่เข้าเป็นจำนวนมาก แต่พื้นที่ในการแสดงผลมีเท่าเดิม
หากคุณดึงดันจะอยู่แต่บน Facebook ก็เท่ากับการที่คุณเลือกที่จะเข้าไปเบียดเสียดอยู่ในที่ที่รถติด จนอาจไปไม่ถึงจุดหมายอยู่นั่นเอง
ซึ่งหลายคนอาจมีข้อสงสัยนะครับว่า ไม่ให้ทำแต่บน social media อย่างเดียว แล้วจะให้ไปทำที่ไหน?
คนไทยไม่ซื้อของออนไลน์จากที่อื่นกันหรอกนอกจากบน social media
เรื่องนี้ผมขอเถียงแบบขาดใจเลยครับ เพราะถ้าคุณลองมองรอบตัวดูดีๆ คุณจะเห็นเลยว่า
ปัจจุบันแทบจะไม่มีธุรกิจเจ้าใหญ่รายไหนที่เค้าขายของแต่บน social media อย่างเดียวอีกแล้ว
และถ้าคนไม่ซื้อของออนไลน์จากที่อื่น ทำไมพวก e-Marketplace อย่าง Lazada, Shopee, Konvy ถึงได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า?
ทำไมบริษัทใหญ่ๆ ถึงต้องลำบากทำการตลาดหลายช่องทาง ทั้งที่เค้ามีงบประมาณมากพอที่จะเอามาทุ่มสู้ค่าโฆษณาบน Facebook กับธุรกิจเจ้าเล็กๆ ได้แบบสบายๆ
คำตอบคือ เพราะเค้าเข้าใจว่า “One size DOES NOT fit all” ยังไงล่ะครับ
บนโลกที่ journey ของผู้บริโภคซับซ้อนเช่นนี้ เป็นไปได้ยากมากที่คุณจะใช้เพียงแค่แพลตฟอร์มเดียวในการตอบสนองทุก touchpoint ของผู้บริโภค
ถ้าพูดขึ้นมาลอยๆ แล้วคุณยังไม่เชื่อผม ผมขอยกเอาสถิติจาก ETDA มาเล่าให้ฟังครับว่า ในปี 2016 มูลค่า e-Commerce ของ SMEs จำแนกตามช่องในการขายออนไลน์ “เกินกว่าครึ่ง” มาจาก ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ Social Media ไม่ว่าจะเป็น website หรือ e-Marketplace ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนไม่ได้ขายและซื้อของกันแต่บน social เท่านั้นแน่นอนครับ
และอีกเรื่องสำคัญที่ผมอยากกาดอกจันไว้ให้ตัวโตๆ ก็คือ
ถ้าวันนี้คุณคิดจะทำการตลาดในหลายแพลตฟอร์ม สิ่งสำคัญที่คุณขาดไม่ได้เลยก็คือ “เว็บไซต์”
เพราะเว็บไซต์จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการทำการตลาดในทุกช่องทาง ไม่ว่าคุณจะทำการตลาดบนแพลตฟอร์มไหน ก็สามารถเชื่อมโยงไปมากับเว็บไซต์ได้หมด อีกทั้งมันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มอื่นขึ้นไปได้อีกหลายระดับ แถมมันขายของเองได้แบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การนำเสนอสินค้า การให้ข้อมูลสินค้า การนำสนอโปรโมชั่น การรับชำระเงิน การติดตามสินค้า ไปยันการให้บริการหลังการขาย เรียกได้ว่าจบ ครบทั้ง journey ของลูกค้าเลย และที่สำคัญมันเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) ที่เป็นของคุณโดยแท้จริง
ยังไงขอฝากเอาไว้ให้ทุกท่านลองพิจารณาดูนะครับว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ธุรกิจของเราจะก้าวออกจากกรอบแนวคิดเดิมๆ ที่เราเคยชิน และลองวางแผนและทำการตลาดให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจริงๆเสียที
3. Skill ที่ผมมองว่า SMEs จำเป็นต้องมีในปี 2019
1) Marketing & Sales
แม่ค้าบางคน ขายเก่ง แต่ไม่รู้เรื่องการตลาด
แม่ค้าบางคน รู้เรื่องการตลาด แต่ขายไม่เก่ง
ผมบอกเลยครับว่า วันนี้ ถ้าคุณอยากจะแข่งกับคนอื่นได้คุณต้องมีความรู้เกี่ยวกับ 2 เรื่องนี้ “ทั้งคู่”
เพราะถึงคุณจะขายเก่งแค่ไหน แต่ถ้าหากคุณไม่รู้จักการวางแผนการตลาด คุณก็ไปไม่รอด หรือถึงคุณจะเป็นกูรูเรื่องการตลาด แต่คุณปิดการขายไม่ได้ คุณก็ไปไม่รอดเช่นกัน
การศึกษาและฝึกทักษะทั้งทางด้านการตลาดและการขายจะช่วยส่งเสริมกันให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จ
พยายามใช้การตลาดเป็นตัวนำทาง และปิดจ๊อบด้วย skill ในการขาย และนำประสบการณ์ที่ได้ทั้งหมด ไปพัฒนาการวางแผนทางการตลาดอีกที ทำวนลูปไปอย่างนี้ รับรองว่าคุณสู้กับคู่แข่งได้แบบสบายๆ
2) Writing
แม้ทุกวันนี้จะมีคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบมากแค่ไหน แต่ผมก็ยังยืนยันว่าการเสพคอนเทนต์ที่สร้าง “Deep Engagement ได้ดีที่สุด” ก็คือ “การอ่าน”
เพราะฉะนั้น skill ในการเขียน เป็น skill สำคัญอันดับต้นๆ ที่คุณต้องมีครับ
จะบอกว่าคนไทย ไม่อ่านหนังสือ ผมบอกเลยว่าไม่จริง เพราะไม่งั้นเพจที่มีแต่บทความยาวเหยียด คงจะไม่มีคนติดตามกันเป็นแสนเป็นล้านหรอกจริงมั้ยครับ?
เค้าจะอ่านไม่อ่าน Key คือ คอนเทนต์ของคุณ มันตรงกับความสนใจของเค้ามั้ยมากกว่าต่างหาก
นอกจากเรื่องของการเขียนบทความแล้ว skill นี้ยังจำเป็นต่อการสร้างคอนเทนต์ทุกรูปแบบ
คุณจะทำ VDO คุณก็ต้องเขียน Script
คุณจะสัมภาษณ์ลูกค้า คุณก็ต้องเตรียมเขียนคำถาม
คุณจะโพสต์คอนเทนต์อะไรก็ตาม ก็มักต้องมีการเขียนสอดแทรกอยู่เสมอ
นอกจากนี้ การเขียนจะช่วยให้เราลำดับความคิดในการสื่อสารได้ดีขึ้นอีกด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง Skill ที่ผมยืนยันเลยครับว่าต้องฝึกให้เก่งจริงๆ
3) Video Creator
ผมเล่าไปแล้วถึงประโยชน์อันแสนเลิศล้ำของ VDO และเล่าไปแล้วว่า Facebook เค้าผลักดันคอนเทนต์รูปแบบนี้ขนาดไหน ทำให้ skill การทำ VDO เป็นอีก skill ที่บอกเลยว่า must have
แต่เราก็ยังเห็น SMEs ทำ VDO กันแบบบางตา อาจเป็นเพราะด้วยความเข้าใจว่า การทำ VDO จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ต้องใช้ต้นทุนเยอะ ต้องทำเป็นหนัง ต้องมี production ยิ่งใหญ่ ต้อง viral ฯลฯ
แต่เอาจริงๆ แล้วการทำ VDO ในปัจจุบันมันไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้นเสมอไปครับ ในบางครั้งมันอาจใช้ความพยายามและต้นทุน ไม่ต่างจากการทำคอนเทนต์บทความ หรือคอนเทนต์รูปภาพที่คุณทำอยู่เป็นประจำทุกวันเลยด้วยซ้ำ
แค่คุณมีมือถือเครื่องเดียว บวกกับความเข้าใจที่ถูกต้อง คุณก็สร้างคอนเทนต์ VDO ดีๆ ไว้สำหรับโพสต์ในเพจหรือลงโฆษณาได้แล้ว
โดยผมมองว่าเรื่องของความเข้าใจ สำคัญกว่าการทำ VDO ล้ำๆ เสียอีก
เพราะมีตัวอย่างให้เห็นเยอะเลยว่า บางทีโฆษณา VDO สวยๆ ทุ่มงบไปจำนวนมาก แต่ทำออกมาด้วยความไม่เข้าใจ สุดท้ายอาจไม่สร้างประโยชน์อะไรให้กับธุรกิจเลย
แล้วเราต้องเข้าใจอะไรบ้าง ถ้าอยากจะทำ VDO ดี?
ผมขอสรุปเป็น 3 เรื่องหลักดังนี้แล้วกันนะครับ
– คุณต้องเข้าใจผู้รับสารและพฤติกรรมของเค้า
– เข้าใจเป้าหมายของสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อสาร
– เข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์มหรือช่องทางที่เราจะสื่อสาร
ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเสพคอนเทนต์ผ่านมือถือเป็นหลักแบบทุกที่ทุกเวลา การที่คุณจะเอาแนวคิดในการสร้าง VDO สำหรับแสดงผลบนทีวี มาใช้กับบนจอมือถือนั้นอาจจะไม่เหมาะสมนัก เพราะบริบทของคนเสพไม่เหมือนกัน คุณควรออกแบบคอนเทนต์เพื่อให้สอดคล้องกับการแสดงผลบนมือถือและพฤติกรรมของผู้บริโภคตั้งแต่ต้น
เช่น คุณควรออกแบบวิดีโอให้เหมาะสมกับการรับชมบนมือถือ (mobile first) โดนใช้วิดีโอสั้นๆ ที่เน้นกระตุ้นความสนใจของผู้รับสาร โชว์แบรนด์ในวินาทีแรกๆ เนื้อหาเข้าใจง่าย ออกแบบให้เหมาะกับการรับชมในแนวตั้ง และออกแบบให้เหมาะกับการรับชมทั้งเปิดและปิดเสียง เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจในคอนเทนต์ของเรา และจดจำแบรนด์เราได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ผู้รับสารมี attention span ค่อนข้างต่ำ
ทั้งนี้ ผมเข้าใจว่า การทำหนัง หรือการทำ VDO ที่ขายจบในตัวเดียวนั้น มันอาจจะทำยากสำหรับ SMEs ผมจึงอยากแนะนำว่า ให้เราลองวางแผน และทะยอยทำ VDO ธรรมดาๆ หลายตัว และหมั่นสื่อสารให้สอดคล้องกับ journey ของผู้บริโภค อาจจะง่ายและเหมาะสมกว่าสำหรับ SMEs ยังไงฝากลองไปศึกษาและฝึกฝนเพิ่มเติมกันดูนะครับ
4) Report & Optimize
คุณเคยได้ยินประโยคที่ว่า “Data is the new oil” มั้ยครับ?
วันนี้ต้องบอกเลยว่า “ข้อมูล” มีค่าไม่ต่างจากน้ำมันเลยทีเดียว
ข้อดีการทำธุรกิจออนไลน์คือ “ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล” ในแบบที่เมื่อก่อนเราไม่เคยสามารถเข้าถึงได้ เราสามารถล่วงรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคได้แบบไม่ต้องมานั่งคาดเดา สามารถเก็บสถิติและนำมันมาพัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ
คำถามคือ คุณเคยเก็บข้อมูลของลูกค้า และนำมันมาใช้ประโยชน์บ้างหรือยัง?
ถ้ายัง ผมบอกเลยครับว่า นี่เป็น skill ที่คุณต้องเรียนรู้อย่างเร่งด่วน เพราะมันจะช่วยให้คุณทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกหลายเท่า
อย่างการลงโฆษณาใน Facebook กระบวนการที่ผมทำอยู่เป็นกิจวัตร และสัมฤทธิ์ผลเสมอนั่นก็คือ
เก็บข้อมูลลูกค้า > ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล > สร้างแคมเปญการตลาด > วัดผล
ทำแบบนี้วนลูปไปเรื่อยๆ จนเจอวิธีลงโฆษณาที่เหมาะสมที่สุด
โดยกระบวนการ “ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล” ลักษณะนี้ ไม่ได้ใช้ได้แค่เพียงกับการลงโฆษณาเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำการตลาดได้ทุกรูปแบบ เราสามารถใช้มันเป็นเหมือนเข็มทิศที่ช่วยให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
5) Courage
Skill สุดท้าย ที่ผมว่าสำคัญไม่แพ้ข้อไหนๆ คือ “ความกล้า” ครับ
วันนี้ ถ้าคุณคิดจะสู้รบในสมรภูมิที่มีการแข่งขันดุเดือดขนาดนี้
ความกล้า เป็นอาวุธสำคัญที่คุณขาดไม่ได้
คุณต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะเดินออกมาจากกรอบหรือแนวความคิดเดิมๆ รวมถึงต้องกล้าที่จะออกมาสร้างความแตกต่าง
ยกตัวอย่างเช่น
ในบางธุรกิจ เราขายสินค้าเหมือนกับคนอื่นเป๊ะ เราต้องหาเหตุผลให้ลูกค้าว่า ทำไมเค้าต้องมาซื้อกับเรา?
ความกล้าในการออกมาทำ personal branding จึงกลายมาเป็น skill ที่สำคัญมากในการแข่งขันในตลาดแบบนี้ เป็นต้น
อยากฝากให้ทุกคนลองกล้าพัฒนาตัวเองกันดูนะครับ
.
และทั้งหมดก็เป็นความเห็นของผมต่อการทำ Digital Marketing ในปีนี้ครับจริงๆแล้ว ทั้งหมด สามารถสรุปรวบความได้สั้นๆ เลยว่า
“การเรียนรู้ และปรับตัวตลอดเวลา” คือหัวใจสําคัญที่สุดที่จะช่วยที่จะช่วยคุณแข่งขันได้
ซึ่งหากถามถึงสูตรในการทำการตลาดในปีนี้ ผมขอตอบสั้นๆ ว่า
“เปิดใจ + เรียนรู้ + ลงมือทํา + จริงจัง”
ทำวนลูปไปอย่างนี้ ไม่ว่าเทรนด์จะเปลี่ยนไปซักเท่าไหร่ ธุรกิจของคุณก็จะยังคงอยู่รอดอย่างผู้ชนะแน่นอนครับ
มีประโยชน์ฝากช่วยแชร์ด้วยนะครับ #MaxideaStudio
ประชาสัมพันธ์
สำหรับท่านใดที่อ่านบทความนี้แล้ว สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการทำโฆษณา Facebook Ads ต้องการพัฒนาความสามารถในการใช้โฆษณาเฟสบุคเพื่อเพิ่มยอดขาย และ สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ทางเรามีคลาสสอนทำโฆษณาเฟสบุ๊ค “แบบกรุ๊ปขนาดเล็ก” เนื้อหาอัดแน่นตลอด 2 วันเต็ม
รอบการสอนถัดไป
• วันพุธ-พฤหัส ที่ 7-8 ตุลาคม 2563
• เรียนกลุ่มละ 15 คน
• สถานที่เรียน : Maxidea Co-Playing Space (ซอยลาดพร้าว 71)