อยากรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายไหนดีกว่ากัน?
อยากรู้ว่า Ad ควรใช้รูปหรือวิดีโอดี?
อยากรู้ว่าแคปชั่นไหนโดนใจกว่า?
อยากรู้ว่าลงบน Facebook หรือ IG ดีกว่ากัน?
คำถามโลกแตกเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของเราประจำเวลาจะลงโฆษณา
และถ้าคุณใช้วิธี “เดา” ในการหาคำตอบ นั่นอาจหมายถึงคุณกำลังเสี่ยงทุ่มงบจำนวนมากไปกับทางเลือกที่อาจจะไม่ได้เวิร์คอย่างที่คุณคิด
ทางออกง่ายๆ ที่ผมใช้โคตรบ่อยกับการหาคำตอบเหล่านี้ แถมเชียร์ให้คนอื่นใช้ประจำ นั่นก็คือ “การ Test” ครับ
อยากรู้ว่าอันไหนดีกว่า ก็รันโฆษณาเทียบกันจริงๆ ไปเลย ซึ่งการ test เป็นวิธีที่สวนทางกับการคาดเดาอย่างสิ้นเชิง มันจะมีผลลัพธ์ทางสถิติออกมาให้คุณเห็นจะๆ เลยว่า ทางเลือกไหนดี ทางเลือกไหนแย่ หรือเผลอๆ อาจจะดีหรือแย่ทั้งคู่ก็ได้
นอกจากมันจะช่วยให้เราเลือกได้แบบมั่นใจแล้ว เรายังสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้ไปปรับปรุงกลยุทธ์ในการทำโฆษณาในอนาคตได้อีกด้วย
ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนผมก็ test แบบ manual เอาครับ โดยเซตชุดโฆษณาขึ้นมาเหมือนกันเด๊ะ และให้มีจุดที่ต่างเพียงแค่ตัวแปรที่ผมอยากรู้ว่ามันส่งผลต่อผลลัพธ์รึเปล่า เช่น เซตให้ทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่ยิงไปหากลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า รันไปซักพัก ก็กลับมาทบทวนเปรียบเทียบรายงานโฆษณาดูว่าตัวให้ผลดีกว่ากัน
หลายคนก็อาจจะร้องโอดครวญว่า มันยุ่งมันยากเหลือเกิน กับการที่จะต้องมานั่งเซตนู่นนี่ และคอยติดตามผล แถมบางทีก็ไม่ค่อยแน่ใจด้วยว่าตัวเองอ่าน report ถูกรึเปล่า
วันนี้ Facebook เค้าช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นแล้วล่ะครับ เค้ามีฟังก์ชั่นที่อำนวยความสะดวกให้เราสามารถสร้างการทดสอบ A/B Test ได้ในขั้นตอนของการสร้างโฆษณาปกติเลย โดยเมื่อเราเข้าที่ตัวจัดการโฆษณา และเลือกวัตถุประสงค์ของแคมเปญเรียบร้อยแล้ว ทางด้านล่าง เค้าจะมีเมนูที่ชื่อว่า “สร้างการทดสอบ A/B (Create A/B Test)” ซึ่งถ้าเราคลิกเปิดเมนูขึ้นมา เค้าก็จะมีตัวแปรให้เราเลือก ว่าเราอยากจะทดสอบอะไร โดยสามารถเลือกได้ 4 ตัวแปร (ในแต่ละตัวแปรสามารถสร้างชุดโฆษณาได้ 5 เวอร์ชั่น) ดังนี้
1. ชิ้นงานโฆษณา (Creative)
เราจะเลือกทดสอบชิ้นงานโฆษณา ก็ต่อเมื่อเราอยากรู้ว่าองค์ประกอบของชิ้นงานโฆษณาแบบไหนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน ชิ้นงานโฆษณาแบบไหนที่กลุ่มเป้าหมายจะชอบ และมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วม หรือตอบสนองมากกว่า
เราอาจอยากรู้ว่า Ad format, พาดหัว, แคปชั่น หรือ CTA แบบไหนที่ให้ประสิทธิภาพดี ซึ่งเวลาทดสอบ แนะนำว่าควรทดสอบทีละองค์ประกอบ เพื่อที่เราจะได้รู้ได้ว่า องค์ประกอบใดที่ส่งผลต่อผลลัพธ์จริงๆ
เช่น ควรทดสอบระหว่างการใช้ รูป กับ วิดีโอ ในขณะที่กำหนดให้องค์ประกอบอื่นคงที่ เช่น พาดหัว แคปชั่น หรือ CTA คงไว้ให้เหมือนกัน เพื่อที่จะได้รู้ชัดไปเลยว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน รูป หรือ วิดีโอ ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากันแน่
ทั้งนี้ ภายใต้ 1 ตัวแปร Facebook เค้าอนุญาตให้เราสร้างชุดโฆษณาเปรียบเทียบได้สูงสุด 5 เวอร์ชั่น ช่วยให้เรามีขอบเขตในการทดสอบที่กว้างขึ้นกว่าการเปรียบเทียบชุดโฆษณาเพียงแค่ 2 ชุด เช่น
เราอาจทดสอบเทียบระหว่าง การใช้ VDO ตัวที่ 1 ตัวที่ 2 และตัวที่ 3 ว่าตัวไหนให้ผลลัพธ์ดีที่สุด
หรืออาจเปรียบเทียบการใช้ Head caption ที่แตกต่างกันออกไปได้ถึง 5 แบบ เป็นต้น
2. การปรับการนำส่งให้เหมาะสม (Delivery Optimization)
เราจะเลือกทดสอบการปรับการนำส่งให้เหมาะสม ก็ต่อเมื่ออยากรู้ว่าควรนำส่งโฆษณาของเราแบบไหน หรือควรเลือกกลยุทธ์ในการควบคุมต้นทุน (Cost Control) แบบไหนที่จะช่วยให้เราได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
สมมติว่าคุณเลือก วัตถุประสงค์ของแคมเปญ เป็นจำนวนผู้เข้าชม (Traffic) คุณอาจทดสอบระหว่างการเลือกการปรับการนำส่งให้เหมาะสมเป็น “จำนวนการคลิกลิงก์” เทียบกับ “การเข้าชมแลนดิ้งเพจ” เพื่อดูว่า Delivery Optimization แบบไหนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน
หรือภายใต้เมนูนี้ คุณอาจเลือกทดสอบการควบคุมต้นทุนที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจเลือกระหว่าง การไม่ควบคุมอะไรเลยปล่อยให้ระบบรันโฆษณาของคุณเองโดยอัตโนมัติ เทียบกับ การควบคุมต้นทุนบางส่วน โดยการใส่เพดานการประมูลเอาไว้ (Bid Cap) เพื่อดูว่าแบบไหนรันแล้วดีกว่ากัน เป็นต้น
เช่นเดียวกันกับการทดสอบอื่นๆ ใน 1 ตัวแปร คุณสามารถสร้างชุดโฆษณาเปรียบเทียบได้สูงสุด 5 เวอร์ชั่น เวลาที่คุณอยากลองเทียบระหว่าง Delivery Optimization 3-4 แบบ ก็สามารถทำได้ครับ
3. กลุ่มเป้าหมาย (Audience)
เราจะเลือกทดสอบกลุ่มเป้าหมาย ก็ต่อเมื่อเราอยากรู้ว่า กลุ่มเป้าหมายแบบไหนที่มีแนวโน้มตอบสนองต่อโฆษณาของเรามากกว่า หรือให้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ได้ดีกว่ากัน
สมมติว่า เราอยากยิงโฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้ไปหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เราอาจเลือกทดสอบระหว่าง ยิงไปหากลุ่มเป้าหมายแบบ Core Audience เทียบกับ Lookalike Audience ที่สร้างจากฐานผู้เข้าชมเว็บไซต์ ดูว่าแบบไหนให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน เป็นต้น
ทั้งนี้ การทดสอบกลุ่มเป้าหมาย สามารถเซตกลุ่มเป้าหมายเปรียบเทียบได้หลากหลาย
เราอาจทดสอบความแตกต่างของ Core Audience ด้วยช่วงอายุ พื้นที่ ความสนใจ ฯลฯ
อาจทดสอบความแตกต่างระหว่าง Lookalike Audience ที่สร้างมาจากคนละฐานข้อมูล
หรืออาจทดสอบความแตกต่างระหว่าง Custom Audience ที่สร้างมาจากคนละฐานข้อมูล
หรือ อาจทดสอบไขว้กันระหว่าง Audience แต่ละประเภท
อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบเปรียบเทียบต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงโฆษณาเป็นหลัก และเลือกเปรียบเทียบกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มที่จะให้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการครับ
4. ตำแหน่งการจัดวาง (Placement)
เราจะเลือกทดสอบตำแหน่งการจัดวาง ก็ต่อเมื่อเราอยากรู้ว่าเมื่อลงโฆษณาบนแฟลตฟอร์มไหน (Facebook, Instagram) หรือตำแหน่งการจัดวางไหน (เช่น Feed, Stories, In-stream, Right Column, Audience Network) แล้วจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
โดยเราอาจลองทดสอบระหว่าง การปล่อยให้ระบบเลือกตำแหน่งการจัดวางให้เราแบบอัตโนมัติ เทียบกับ การเลือกตำแหน่งการจัดวางเอง ดูว่าแบบไหนให้ผลลัพธ์ดีกว่ากัน
หรือเราอาจทดสอบว่าระหว่างลงโฆษณาแต่บนแพลตฟอร์ม Facebook เทียบกับลงแต่บน Instagram หรือเทียบกับลงทั้งสองแพลตฟอร์ม แบบไหนดีกว่ากัน แบบนี้ก็สามารถทำได้ครับ
การกำหนดงบประมาณสำหรับการทดสอบ
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการทดสอบโฆษณาก็ควรเพียงพอที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ระบุผู้ชนะได้ โดยภายใต้กล่องที่เค้าให้เราระบุจำนวนเงิน เค้าจะแสดง “ประสิทธิภาพในการทดสอบโดยประมาณ” เป็นเปอร์เซ็นต์โชว์เอาไว้ โดยเปอร์เซ็นต์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามงบประมาณที่เรากำหนดครับ ซึ่ง Facebook แนะนำว่า เราควรใส่จำนวนเงินในการทดสอบให้ค่านี้เกิน 80% ขึ้นไป ระบบจึงจะสามารถตรวจจับความแตกต่างระหว่างชุดโฆษณาที่ต้องการทดสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราอาจเลือกใช้งบเป็นงบประมาณต่อวันหรืองบประมาณตลอดอายุการใช้งานก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากเรามีงบประมาณไม่ถึงที่เค้าแนะนำ เราก็สามารถใช้งบเท่าที่เรามีได้ครับ แต่ต้องสูงกว่างบขั้นต่ำที่เค้ากำหนดไว้
นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกได้อีกกว่า จะใช้งบในแต่ละชุดโฆษณาเท่าๆ กัน (Even Split) หรือจะแบ่งงบให้งบให้แต่ละชุดแบบถ่วงน้ำหนักโดยใส่เป็นเปอร์เซ็นต์ก็ได้ครับ
การกำหนดเวลาสำหรับการทดสอบ
คราวนี้ก็ถึงเวลาเลือกระยะเวลาในการทดสอบ โดยเราสามารถเลือกได้ตั้งแต่ 1-30 วัน ซึ่ง Facebook เค้าแนะนำให้เราทำการทดสอบที่ประมาณ 4 วันขึ้นไป เพราะการทดสอบที่สั้นเกินไปอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่ชัดและอาจทำให้ไม่มีชุดโฆษณาที่ชนะการทดสอบ ในทางกลับกันการทดสอบที่นานเกินไปก็อาจทำให้เราใช้งบประมาณได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ถ้าใครเป็นมือใหม่ เบื้องต้นก็แนะนำให้เลือกประมาณ 4 วัน โดยเราสามารถเริ่มการทดสอบได้เลยโดยเลือกจำนวนวันที่ต้องการทดสอบ หรือสามารถกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดเองก็ได้ครับ
นอกจากนี้ Facebook เค้าก็มีทางเลือกให้เราสามารถติ๊กเลือกเพิ่มได้ตรงด้านล่างว่า ถ้าหากการทดสอบได้ผู้ชนะก่อนเวลาที่กำหนด เราสามารถเลือกให้การทดสอบสิ้นสุดก่อนเวลาได้ ซึ่งผมแนะนำว่า เราควรติ๊กเอาไว้ จะช่วยให้เราประหยัดงบในการ test ได้อีกทางหนึ่ง
หลังจากเซตค่าต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ทางด้านขวามือ เค้าก็จะมีคอลัมน์สรุปค่าที่เราเซตเอาไว้ให้ เมื่อใส่ข้อมูลต่างๆ ครบถ้วน เราก็กดยืนยันการทดสอบได้เลยครับ
ผลลัพธ์ในการทดสอบ
เมื่อสิ้นสุดการทดสอบ เค้าจะส่งการแจ้งเตือนมาให้เราในตัวจัดการโฆษณา พร้อมส่งอีเมลมาบอกผลลัพธ์ด้วยว่าชุดโฆษณาไหนเป็นผู้ชนะ ซึ่ง Facebook เค้าตัดสินผู้ชนะจากชุดโฆษณาที่ให้ต้นทุนต่อผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ต่ำที่สุด โดยใช้ข้อมูลทั้งจากการทดสอบของเราโดยตรงและจากสถานการณ์จำลองจำนวนมากเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเพิ่มระดับความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของเราได้
นอกจากเราจะรู้ว่าชุดโฆษณาชุดไหนเป็นผู้ชนะแล้ว เรายังสามารถดูข้อมูลเชิงลึกของชุดโฆษณาที่ทำการทดสอบได้ในตัวจัดการโฆษณา ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการเลือกกลยุทธ์การโฆษณา หรือใช้เป็นแนวทางในการออกแบบแคมเปญต่อๆ ไปได้ครับ
เช่น ถ้าเราทดสอบ Ad Creative ระหว่าง รูป และ วิดีโอ แล้วพบว่า วิดีโอให้ผลลัพธ์ทีดีกว่ามาก คุณก็อาจใช้งบประมาณที่คุณมีลงกับวิดีโอไปเลย หรือ ถ้าผลลัพธ์ออกมาว่า วิดีโอชนะ แต่รูปเองก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีไม่แพ้กันเท่าไหร่ ถ้าคุณมีงบประมาณมากพอ คุณอาจพิจารณารันโฆษณาทั้งสองชุดควบคู่กันไปเลยก็ได้ เป็นต้น
และนี่ก็คือ ข้อมูลเบื้องต้นของการทดสอบโฆษณาแบบ A/B Test ของ Facebook ครับ จะเห็นได้ว่าเค้าอำนวยความสะดวกให้เราทำการทดสอบง่ายขึ้นมากเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากเราจะสร้างการทดสอบได้จากการสร้างโฆษณาตามขั้นตอนปกติแล้ว Facebook เค้าก็ยังมีช่องทางอื่นๆ ให้เราสร้างการทดสอบได้อีก เช่น การสร้างทดสอบในการสร้างโฆษณาด่วน (Quick Creation), การสร้างการทดสอบจากการแก้ไขชุดโฆษณาที่กำลังรันอยู่ เพื่อดูว่าการแก้ไขนั้นมันเวิร์ครึเปล่า หรือการสร้างการทดสอบโดย duplicate ชุดโฆษณาที่กำลังรันอยู่ออกมา และทดสอบตัวแปรที่เราต้องการก็สามารถทำได้ครับ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะทดสอบโฆษณา คือ คุณต้องไม่ลืมว่า ทุกการทดสอบก็มีต้นทุนของมัน ทั้งเวลา เงิน และค่าเสียโอกาสต่างๆ แม้ผมจะเชียร์ให้ทำการ test ในสิ่งที่เราสงสัย แต่ก็ไม่ใช่ว่า เอะอะ เราจะ test กันไปเสียทุกเรื่องนะครับ ก่อนจะทดสอบอะไร เราก็ต้องวางแผนมาให้ดีเสียก่อนว่าตัวแปรนั้นมีโอกาสที่จะส่งผลกับผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการหรือไม่ และเมื่อเรา test ไปแล้ว ก็ไม่ใช่ test เป็นครั้งๆ แล้วจบไป คุณต้องพยายามเก็บรวบรวมสถิติที่คุณได้รับมาพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ในการลงโฆษณาของคุณในอนาคตด้วย การทดสอบเหล่านั้นจึงจะให้ประโยชน์สูงสุดกับคุณครับ
#MaxideaStudio
#มีประโยชน์ฝากช่วยแชร์ด้วยนะครับ
มีประโยชน์ฝากช่วยแชร์ด้วยนะครับ #MaxideaStudio
ประชาสัมพันธ์
สำหรับท่านใดที่อ่านบทความนี้แล้ว สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการทำโฆษณา Facebook Ads ต้องการพัฒนาความสามารถในการใช้โฆษณาเฟสบุคเพื่อเพิ่มยอดขาย และ สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ทางเรามีคลาสสอนทำโฆษณาเฟสบุ๊ค “แบบกรุ๊ปขนาดเล็ก” เนื้อหาอัดแน่นตลอด 2 วันเต็ม
รอบการสอนถัดไป
• วันพุธ-พฤหัส ที่ 7-8 ตุลาคม 2563
• เรียนกลุ่มละ 15 คน
• สถานที่เรียน : Maxidea Co-Playing Space (ซอยลาดพร้าว 71)