การเลือกตำแหน่งที่ตั้ง (location) เป็นหนึ่งในเกณฑ์การตั้งกลุ่มเป้าหมายแบบ core audience ที่พวกเราไม่ควรมองข้าม เพราะมันช่วยให้คุณสามารถยิงโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณต้องการได้ค่อนข้างละเอียดและแม่นยำ รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับเกณฑ์อื่นๆ เพื่อให้คุณได้มาซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ใกล้เคียงกับที่คุณต้องการมากที่สุด
ซึ่งถ้าถามว่า Facebook เค้ารู้ได้ยังไงว่ากลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน?
เท่าที่ Facebook บอก คือ เค้าทำการเก็บข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งจากหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลที่อยู่ที่ผู้ใช้ระบุในโปรไฟล์, สถานที่ที่ผู้ใช้เช็กอิน, การติดตามอุปกรณพกพาต่างๆ, IP Address, ตำแหน่งที่ตั้งที่ระบุในโปรไฟล์ของเพื่อน เป็นต้น
เราสามารถเลือกตำแหน่งที่ต้องการได้ด้วยวิธีการไหนบ้าง?
ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบ core audience สิ่งแรกที่เค้าจะให้เรากำหนดก็คือ location นั่นเองครับ โดยเราสามารถเลือกตำแหน่งที่ตั้งได้ด้วย 3 วิธี ดังนี้
1. พิมพ์ตำแหน่งที่ต้องการ
ในช่อง “พิมพ์เพื่อเพิ่มตำแหน่งที่ตั้ง” คุณสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายด้วยการพิมพ์ชื่อประเทศ, รัฐ, ภูมิภาค, จังหวัด, เมือง, รหัสไปรษณีย์, เขตเลือกตั้ง, เขตการค้าเสรี, ประเทศที่รองรับ App Store, กลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือพิมพ์ได้แม้กระทั่งที่อยู่ที่คุณต้องการลงไปได้เลย โดย Facebook จะแสดงเป็นรายการที่เค้า verify แล้วขึ้นมาให้เราเลือกอีกที
ซึ่งก่อนเลือกอย่าลืมดูให้แน่ใจกันด้วยนะครับว่า ประเภทของตำแหน่งที่ตั้งนั้น ตรงกับที่เราต้องการรึเปล่า เช่น หากคุณพิมพ์รหัสไปรษณีย์ ก่อนเลือกควรตรวจสอบด้วยว่า ที่ตั้งนั้น เป็นรหัสไปรษณีย์จริงๆ และอย่าลืมตรวจสอบชื่อประเทศให้ถูกต้องด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะเลือกตำแหน่งที่ตั้งได้หลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน แต่ก็มีข้อจำกัดของมันอยู่ เช่น
– ประเทศ เลือกได้สูงสุด 25 ประเทศ
– เมือง เลือกได้สูงสุด 250 เมือง
– รหัสเขตพื้นที่หรือรหัสไปรษณีย์ เลือกได้สูงสุด 2,500 รหัส เป็นต้น
และนอกจากเราจะเลือกตำแหน่งที่เราต้องการได้แล้ว เรายังสามารถเลือก “ตำแหน่งที่เราไม่ต้องการ” ได้อีกด้วย เช่น หากคุณต้องการเลือกตำแหน่งที่ตั้งเป็น กรุงเทพ แต่ไม่อยากได้คนในเขตบางกะปิ คุณก็สามารถเลือก “ไม่รวม” เขตบางกะปิโดยการใส่รหัสไปรษณีย์ของเขตลงไปได้ เป็นต้น
2. ปักหมุดตำแหน่งที่ต้องการ
หากตัวเลือกที่ Facebook เค้ามีให้มันไม่ตรงใจคุณเสียที คุณก็สามารถเลือกปักหมุดพื้นที่ที่คุณต้องการลงไปบนแผนที่ได้เลย และคุณสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังผู้คนภายในรัศมีของหมุดที่คุณกำหนดได้ เช่น ยิงไปหาคนที่อยู่รอบๆ หมุดที่ปัก ในระยะ 20 กิโลเมตร เป็นต้น
**กรณีของการพิมพ์ตำแหน่งที่ต้องการ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะกำหนดเป้าหมายโฆษณาไปแค่เพียงตำแหน่งที่คุณพิมพ์ หรือจะขยายรัศมีไปยังตำแหน่งที่ใกล้เคียง เช่น หากคุณเลือกตำแหน่งที่ตั้งเป็น กรุงเทพ คุณสามารถเลือกตั้งเป้าหมายเพียงแค่กรุงเทพ หรือ จะเลือกขยายรัศมีจากกรุงเทพไปยังจังหวัดใกล้เคียงก็ได้
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถใช้การกำหนดเป้าหมายรัศมีกับ รหัสเขตพื้นที่ รหัสไปรษณีย์ รัฐ ภูมิภาค หรือประเทศ นะครับ
3. เพิ่มตำแหน่งที่ตั้งทีละหลายรายการ
หากคุณจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายหลายตำแหน่งที่ตั้ง คุณสามารถอัพโหลดตำแหน่งที่ตั้งลงไปได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามานั่งเลือกทีละตำแหน่ง โดยคุณสามารถศึกษาหน้าตาของไฟล์ที่จะอัพโหลดได้ตามลิงก์นี้เลยครับ https://www.facebook.com/business/help/782267941863427…#
(ทั้งนี้ จากที่ผมได้ทดลองใช้ พบว่า ไฟล์ที่อัพโหลดลงไป หากใช้เป็นภาษาอังกฤษ ระบบจะจับคู่ตำแหน่งที่อยู่ของไฟล์ที่เราอัพโหลดกับข้อมูลในระบบได้เสถียรกว่าใช้เป็นภาษาไทยค่อนข้างมากเลยครับ)
ตัวเลือกในการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายในตำแหน่งที่เราเลือก
นอกจากเราจะสามารถเลือกตำแหน่งได้ค่อนข้างละเอียดแล้ว Facebook เค้าก็ยังมีตัวเลือกเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายในตำแหน่งที่ตั้งนั้นๆ ให้เราเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อให้เราได้กลุ่มคนที่เราต้องการมากที่สุด หรือมีแนวโน้มจะสนใจธุรกิจของเรามากที่สุด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
ทุกคนในตำแหน่งที่ตั้งนี้ (Everyone in this location)
ตัวเลือกนี้จะเป็นค่าเริ่มต้นเวลาเราเลือกตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่อาศัยในตำแหน่งที่ตั้งนี้ (ระบุจากที่อยู่บนโปรไฟล์ของผู้ใช้) และคนที่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้โดยดูจากอุปกรณ์พกพาของเค้า
ผู้ที่อาศัยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้ (People who live in this location)
พูดง่ายๆ ก็คือคนที่บ้านอยู่ในตำแหน่งที่เราเลือกครับ โดย Facebook เค้าก็จะพิจารณาจากข้อมูลที่อยู่ที่ผู้ใช้ระบุไว้บนโปร์ไฟล์, IP Address รวมถึงพวกตำแหน่งที่ตั้งที่ระบุในโปรไฟล์ของเพื่อนของกลุ่มเป้าหมายด้วยครับ
ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้เมื่อไม่นานมานี้ (People recently in this location)
ตัวเลือกนี้ บ่งชี้ถึงคนที่อยู่ในตำแหน่งที่เราเลือกเมื่อไม่นาน โดยดูจากอุปกรณ์พกพาของเค้าเท่านั้น ซึ่งมันอาจหมายรวมถึงคนที่เพิ่งไปแถวนั้นมาก็ได้
ผู้ที่กำลังเดินทางอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้ (People traveling in this location)
ตัวเลือกนี้ หมายถึง คนที่อาจจะเดินทางมาท่องเที่ยวในตำแหน่งที่เรากำหนด โดยดูจากข้อมูลที่ระบุจากอุปกรณ์พกพาของพวกเค้า และอยู่นอกรัศมี 200 กิโลเมตร จากที่อยู่ที่พวกเค้าระบุไว้ในโปรไฟล์
แนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้
หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่า Facebook เค้ามีตำแหน่งที่ตั้งและตัวเลือกในการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายอย่างไรบ้าง ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องสำคัญว่า เราจะประยุกต์ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทำงานได้อย่างไร?
ซึ่งผมมีแนวทางที่ผมใช้อยู่บ่อยๆ มาแชร์กันครับ
1. ใช้ตัวเลือกในการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับธุรกิจ
สมมติว่าตำแหน่งที่ตั้งที่คุณเลือก คือ จังหวัดภูเก็ต
หากคุณเป็นธุรกิจที่ต้องการขายสินค้า/บริการให้กับใครก็ได้ เช่น ร้านอาหาร, ร้านเสื้อผ้า คุณอาจใช้ตัวเลือก “ทุกคนในตำแหน่งที่ตั้งนี้” ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าถึงคนให้ได้มากที่สุด
หากคุณเป็นธุรกิจท้องถิ่น ที่ต้องการลูกค้าประจำ หรือต้องการเฉพาะลูกค้าที่อยู่ใกล้ๆ กับธุรกิจของคุณ เช่น ฟิตเนส, ร้านซ่อมรถ, ร้านค้าปลีก คุณอาจใช้ตัวเลือก “ผู้ที่อาศัยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้” ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าถึงคนที่สามารถเดินทางมาซื้อหรือใช้บริการที่ร้านได้สะดวก หรือสามารถเรียกใช้บริการได้เป็นประจำ
หากคุณเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น บริการให้เช่ารถ, โรงแรม, ร้านของฝาก คุณอาจใช้ตัวเลือก “ผู้ที่กำลังเดินทางอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้” ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากที่สุด
ในกรณีที่คุณต้องการระบุสัญชาติของนักท่องเที่ยว คุณอาจะเลือกตัวเลือกในการกำหนดภาษาที่กลุ่มเป้าหมายใช้เข้ามาร่วมด้วย เช่น หากต้องการนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ก็กำหนดภาษาที่เค้าใช้เป็นภาษาญี่ปุ่นร่วมด้วย เป็นต้น
2. ใช้กำหนดกลุ่มเป้าหมายตามที่เราต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น
– ต้องการกลุ่มเป้าหมายเป็นสาวออฟฟิศ
คุณอาจเลือกตำแหน่งที่ตั้งเป็นย่านออฟฟิศใหญ่ๆ ในกรุงเทพ เช่น สีลม, สาธร, อโศก ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่อยากได้คนที่บ้านอยู่แถวนั้น แต่ต้องการคนที่ไปทำงานแถวนั้น เราจึงอาจใช้ตัวเลือก “ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้เมื่อไม่นานมานี้” เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจอคนที่ไปมาแถวนั้นอยู่บ่อยๆ
– ต้องการลูกค้าเป็นคนต่างจังหวัด
กรณีนี้ผมมักจะใช้เงื่อนไขของการ “ไม่รวม” เข้ามาช่วยครับ คือแทนที่เราจะมานั่งเลือกจังหวัดจำนวนมาก เราก็เลือกตำแหน่งที่ตั้งเป็นประเทศไทยทั้งประเทศแทน แล้วค่อยเลือกไม่รวมจังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล ประกอบกับการใช้ตัวเลือก “ผู้ที่อาศัยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้” เท่านี้เราก็จะได้ลูกค้าที่เป็นคนต่างจังหวัดแล้วล่ะครับ
3. ใช้เปิดตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ
การใช้ location targeting เป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับธุรกิจที่ต้องการจะขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นครับ ไม่ว่าจะเป็นตลาดทั้งในและต่างประเทศ แค่เลือกตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างไปจากกลุ่มเดิมที่เราเคยทำเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดใหม่ นั่นหมายถึง กลุ่มเป้าหมายก็อาจจะเป็นคนกลุ่มใหม่ด้วย เพราะคนในพื้นที่ที่ต่างกัน ก็อาจจะมีพฤติกรรม ทัศนคติ ความเชื่อ ที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น ก่อนที่ธุรกิจจะเลือกยิงโฆษณาไปเปิดตลาดใหม่ๆ นั้น ธุรกิจก็ต้องมีการวางแผนและศึกษากลุ่มเป้าหมายใหม่เป็นอย่างดีก่อน และที่สำคัญคอนเทนต์โฆษณาที่สื่อสารออกไปควรจะต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น หากคุณยิง Ad โปรโมชั่นสินค้าตัวเดียวกัน ไปยังภาคเหนือ และภาคใต้ คุณอาจจำเป็นจะต้องใช้คอนเทนต์โฆษณาคนละตัว เพื่อให้เหมาะกับผู้รับสารที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน เป็นต้น
4. ใช้ในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า
หากเราเป็นธุรกิจท้องถิ่นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าสภาพแวดล้อมในตำแหน่งที่เราอยู่นั้นเป็นอย่างไร เราสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ ในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระดับที่ลึกลงไปได้
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นธุรกิจสระว่ายน้ำในเขตลาดพร้าวที่รถติดมาก เราอาจทำคอนเทนต์โฆษณาไปยังผู้ปกครองในเขตลาดพร้าว เชิญชวนให้เค้าพาลูกมาใช้บริการสระว่ายน้ำใกล้บ้านในวันหยุด แทนที่จะฝ่ารถติดไปเที่ยวในเมือง เป็นต้น
การทำคอนเทนต์ที่สอดแทรกบริบทเหล่านี้เข้าไป จะช่วยให้การสื่อสารของคุณมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกับลูกค้าในระดับอารมณ์ได้มากขึ้นครับ (อารมณ์ว่าเข้าใจหัวอกคนบ้านเดียวกันนั่นเอง 55)
สุดท้าย ก่อนที่ทุกท่านจะเข้าใจผิด ผมขอย้ำก่อนเลยนะครับว่าแนวทางเหล่านี่ “ไม่ใช่สูตร” มันไม่ได้มีรูปแบบตายตัวว่า ถ้าธุรกิจแบบนี้ จะต้องเลือกแบบนี้ มันเป็นเพียงแค่การให้ไอเดียให้ท่านลองนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งการที่เราจะรู้ได้ว่ามันเวิร์คหรือไม่เวิร์คนั้น ต้องมาจากการลงมือทำ และวัดผลเสมอ ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดกับธุรกิจของเรา ยังไงลองประยุกต์ใช้กันดูนะครับ
มีประโยชน์ฝากช่วยแชร์ด้วยนะครับ #MaxideaStudio
ประชาสัมพันธ์
สำหรับท่านใดที่อ่านบทความนี้แล้ว สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการทำโฆษณา Facebook Ads ต้องการพัฒนาความสามารถในการใช้โฆษณาเฟสบุคเพื่อเพิ่มยอดขาย และ สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ทางเรามีคลาสสอนทำโฆษณาเฟสบุ๊ค “แบบกรุ๊ปขนาดเล็ก” เนื้อหาอัดแน่นตลอด 2 วันเต็ม
รอบการสอนถัดไป
• วันพุธ-พฤหัส ที่ 7-8 ตุลาคม 2563
• เรียนกลุ่มละ 15 คน
• สถานที่เรียน : Maxidea Co-Playing Space (ซอยลาดพร้าว 71)